วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ยาใกล้ตัว รู้ไว้ชัวร์ อย่ามั่วนิ่ม

การประชุมสโมสรโรตารีบางเขนครั้งที่ ๑๘
วันอังคารที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
พร้อมการบรรยายพิเศษจาก ภก.ประวิทย์ ตันติสุวิทย์กุล
เรื่อง "ยาใกล้ตัว รู้ไว้ชัวร์ อย่ามั่วนิ่ม"


รทร. พิชัย พิทักษ์สงครามทำหน้าที่แนะนำผู้บรรยายพิเศษ
เกสัชกรประวิทย์ ตันติสุวิทย์กุลบรรยายเรื่อง "ยาใกล้ตัว รู้ไว้ชัวร์ อย่ามั่วนิ่ม" ให้แก่สมาชิก
และแขกผู้มีเกียรติในสโมสรโรตารีบางเขน อย่างเป็นกันเองสนุกสนาน และได้สาระเต็มที่
นายกอานุภาพ ธีรณิศรานนท์มอบเกียรติบัตรแก่ ภก.ประวิทย์ ตันติสุวิทย์กุล ผู้บรรยายพิเศษสำหรับความรู้ที่บรรยายให้สมาชิกสโมสรโรตารีบางเขนฟัง ซึ่งมีประโยชน์เป็นอย่างมาก และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้


อดีตนายกวิไล หาญสวัสดิ์กล่าวขอบคุณผู้บรรยายพิเศษ ภก.ประวิทย์ ตันติสุวิทย์กุล 


บันทึกคำบรรยายอย่างย่อ


ก่อนกินยาทุกครั้งต้องดูให้แน่ใจว่ายานั้นต้องกินก่อนหรือหลังอาหารหรือพร้อมอาหาร ในขนาดหรือปริมาณเท่าไร ยาก่อนอาหารควรกินก่อนอาหาร ประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ส่วนยาหลังอาหารส่วนมากกินหลังอาหารหนึ่งชั่วโมง แต่บางชนิดจะระบุให้กินหลังอาหารทันที จึงต้องแน่ใจว่ายานั้นๆ ใช้อย่างไร นอกจากนี้การกินยาควรกินกับน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่น ไม่ควรกินกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ไม่ควรกินยากับน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม หรือน้ำผลไม้เช่นกัน

การใช้ยาที่ควรระวังเป็นพิเศษก็คือการใช้ยาในเด็ก ต้องแน่ใจว่ายาที่ได้มานั้นสำหรับเด็กเท่านั้น และการใช้ยาจะต้องถามแพทย์หรือเภสัชกรให้แน่ใจ หรือดูฉลากยาให้ละเอียดด้วยว่าเด็กมีน้ำหนักตัวเท่าไร ถ้าเด็กตัวเล็กน้ำหนักน้อยยาบางชนิดจะระบุให้ใช้ในปริมาณที่ต่ำกว่าเด็กที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า แม้ว่าจะอายุเท่ากันก็ตาม เช่น การใช้ยาลดไข้ พาราเซทตามอลกับเด็ก ถ้ารับประทานเกินขนาด อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ทั้งนี้การเก็บยา ก็ควรเก็บไว้บนที่สูงที่เด็กเอื้อมไม่ถึง อย่าปล่อยให้ยาโดนแสงแดด หรือความชื้น หรือเก็บไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิสูง เพราจะทำให้ยาเสื่อมคุณภาพเร็วกว่ากำหนด เมื่อเปิดใช้ยาแล้วควรปิดฝาให้สนิทป้องกันฝุ่น แมลง หรือความชื้นเข้า ไม่ควรเก็บยาหลายๆ ชนิดไว้ในขวดเดียวกัน เพราะอาจทำให้ยาเสียได้ ไม่ควรเก็บยาไว้นานๆ ต้องดูวันหมดอายุของยา อย่าเผลอกินยาที่หมดอายุแล้ว เพราะอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน

นอกจากนี้แม้ยาบางชนิดจะไม่ระบุวันหมดอายุไว้ที่แผงยา หรือบรรจุภัณฑ์ แต่โดยทั่วไปสภาพของยาจะมีอายุอยู่ได้นานเป็นเวลาประมาณ 2-3 ปี หลังจากวันที่ผลิต แต่ยาบางชนิดเมื่อเปิดใช้แล้วก็อาจมีอายุการใช้สั้น เช่น ยาหยอดตา ซึ่งจะมีอายุหลังเปิดใช้เพียง 1 เดือนเท่านั้น หรือยาปฏิชีวนะที่ต้องผสมน้ำสำหรับให้เด็กรับประทาน หลังจากผสมน้ำแล้วยาตัวนั้นจะมีอายุอยู่ได้เพียง 7 วัน หมายความว่าหลังจาก 7 วันแล้วไม่ควรนำยานั้นมาใช้อีกต่อไป

วิธีการใช้ยาแต่ละชนิดเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องทราบและใช้ให้ถูกวิธีดังกล่าวแล้ว ตัวอย่างการใช้ยาให้ถูกวิธี เช่น การกินยาฆ่าเชื้อราที่ผิวหนัง หากเป็นชนิดรับประทานวันละ 1 เม็ด ควรรับประทานเวลาเช้า เพื่อให้ยาสามารถซึมออกมากับเหงื่อช่วงที่ร่างกายเราเคลื่อนไหวในเวลากลางวัน หรืออย่างแคลเซียมคาร์บอเนต ก็ต้องรับประทานหลังอาหารเพราะตัวยาจะถูกดูดซึมได้ดีเมื่อกระเพาะมีการหลั่งกรดออกมามาก หรืออย่างยาระบายไม่ควรกินร่วมกับนม เพราะอาจทำให้เกิดอาการคลื่นเหียน อาเจียน ท้องเสียได้ ส่วนยาประเภทซัลฟาให้กินหลังอาหารและดื่มน้ำตามมากๆ เพื่อป้องกันมิให้ยาตกตะกอน ซึ่งอาจมีส่วนทำให้เป็นนิ่วที่ไตได้ในภายหลัง เป็นต้น ยาที่จะต้องเคี้ยวก่อนกลืนได้แก่ แคลเซี่ยมแบบเม็ด แอร์เอ็กซ์ ยาลดกรดแบบเม็ด และยาถ่ายพยาธิ

นอกจากนี้เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองในการไปพบแพทย์ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่าขณะนี้คุณกำลังกินยาอะไรอยู่บ้าง ถ้าจำไม่ได้ ให้นำยาทั้งหมดไปให้แพทย์ดูด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้สั่งยาไม่ซ้ำหรือยาที่ไม่มีปฏิกิริยาต่อกันและอย่าลืมแจ้งด้วยว่าคุณแพ้ยาอะไร ตลอดจนควรบอกให้แพทย์ทราบว่าคุณมีโรคประจำตัวหรือกำลังป่วยด้วยโรคอะไร เช่น โรคตับ โรคไต โรคกระเพาะอาหาร หรือกำลังตั้งครรภ์ เพื่อที่แพทย์จะได้เลี่ยงการจ่ายยาที่เป็นอันตรายกับโรคที่คุณเป็นอยู่นั้น
ข้อควรจำ
- แคลเซี่ยมคาบอเนต (ที่ใช้ในการผลิตเต้าหู้ก้อน) อาจทำให้เกิดผลเป็นนิ่วใตไต
- การทานฟ้าทะลายโจร ห้ามทานเกินกว่า ๗ วัน
- Prebiotic ช่วยให้เกิดมีจุลินทรีชนิดดีในลำไส้  ช่วยให้ถ่ายสะดวก ลดกลิ่นเหม็นอุจาระ  อาหารที่มีพรีไบโอติกมากได้แก่ รากชิโครี หากทานกล้วยหอมต้องทาน ๖ ผลต่อวันเพื่อให้ได้ปริมาณพรีไบโอติกที่เพียงพอ
- ยา Flumicil ยาละลายเสมหะ ซึ่งอาจมีผลช่วยให้ผิวขาวขึ้น เพราะทำหน้าคล้ายกลูต้าไธโอนที่กดการทำงานของเอนไซมผลิดเม็ดสี Flumicil เป็นยาที่ราคาไม่แพง
- Transfer Factor ที่ได้จากน้ำนมแรกคลอด เชื่อว่าช่วยเพิ่มภูมิต้านทานได้

การใช้ยาใดๆ จึงต้องมีหลักเกณฑ์ และใช้ให้ถูกต้อง ถูกวิธี ถูกเวลา ถูกเงื่อนไข ถูกขนาด และถูกกับโรค จึงจะสัมฤทธิ์ผล และมีประสิทธิภาพต่อการรักษาโรคอย่างแท้จริงและมีความปลอดภัย มิเช่นนั้นแล้วอาจเกิดโทษมหันต์ได้เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น