วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553




ชุมชนสร้างสรรค์ สานสัมพันธ์โลก
สุนทรพจน์โดย ประธานโรตารีสากลรับเลือก เรย์ คลิงกลิ้นสมิธ
แปลโดย อน. สุรกิจ เกิดสงกรานต์ (สร. บางเขน)
k.surakit@gmail.com

หลายท่านที่อยู่ ณ ที่นี้คงเคยได้ยินเพลง “California, Here I come.” (“แคลิฟอร์เนีย – ฉันมาแล้ว”) ซึ่งเป็นเพลงที่เก่าแก่มากเพลงหนึ่ง เพลงนี้ชวนให้คิดและฝันถึงการประชุมในวันนี้ หลังจากที่เรารอคอยมาหนึ่งปี เวลาที่คิดฝันนั้นมาถึงแล้ว และตอนนี้มันจะไม่เป็น “แคลิฟอร์เนีย – ฉันมาแล้ว” แต่จะต้องเป็นเพลง “แคลิฟอร์เนีย เราอยู่ที่นี่แล้ว” และเราพร้อมแล้วที่จะไป (ทำงานด้วยกัน)

เครือข่ายของอาสาสมัครโรตารีที่มีอยู่นั้นช่างเป็นสิ่งน่าอัศจรรย์ยิ่ง เพลงที่เปิดนำในขณะที่ผมเดินขึ้นมาบนเวทีแห่งนี้ได้รับการบันทึกในเมืองเล็ก ๆ ที่ผมเกิดคือเมืองเคิร์กส์วิลล์ แต่งโดยนักศึกษา 16 คนจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐทรูแมน เป็นเพลงที่แต่งขึ้นเฉพาะสำหรับการส่งเสริมการเข้าประชุมใหญ่โรตารีสากลที่จัดขึ้นที่ลอสแองเจลิส จากนั้นเพลงนี้ได้รับการเรียบเรียงและบรรเลงโดยสมาชิกของสโมสรที่ผมสังกัด อดีตนายกแรนดี้ สมิธ นับว่าเป็นการใช้ทักษะที่น่าประทับใจอันเป็นการบริการเหนือตนของทั้ง แรนดี้และเพื่อนนักเรียนเหล่านั้น

เพลงที่ท่านได้รับฟังเมื่อครู่นั้นก็นำมาบรรเลงสด ๆ ที่นี่โดยคุณแมรี่ แซลลี ซึ่งก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่เสียสละเวลาและใช้ความสามารถของเธอซ้อมเพลงนี้ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ดนตรีช่วยยกระดับจิตวิญญานของมนุษย์ และเราจะได้ใช้ความสามารถของคุณแมรี่ตลอดสัปดาห์นี้ เพื่อคอยยกระดับการประชุมของพวกเรา แมรี่เป็นโรแทเรียนที่มาจากรัฐโอคลาโฮมา สหรัฐอเมริกา และที่สำคัญเธอเป็นอดีตนักเรียนทุนที่ได้ไปเรียนดนตรีที่ประเทศออสเตรียช่วงที่เธอได้รับทุนจากโรตารี ขอให้พวกเราให้การต้อนรับอีกหนึ่งผลผลิตของมูลนิธิโรตารี แมรี่ แซลลี

เรามีหลายเรื่องที่จะต้องพูดคุยกัน ขอเริ่มต้นในเรื่องที่ทุกปีมักจะอยู่ในความสนใจมากที่สุดของ ผู้ว่าการภาครับเลือกนั่นคือเรื่องของเสื้อสูทสัญลักษณ์ประจำปี หลายท่านคงคิดว่าท่านพอล แฮร์รีสเป็นคนแรกที่นำความคิดเสื้อแจ็คเก็ตมาใช้ แต่ความจริงเสื้อสัญลักษณ์นี้เพิ่งถูกนำมาใช้เมื่อประมาณ ๒๕ ปีมานี้เอง โดยในปี ๒๕๒๗ – ๒๘ ขณะนั้นประธานโรตารีสากลคือคาร์โลซ แคเนสโก และผู้ว่าการภาครับเลือกจากภาคที่ผมสังกัด ชื่อจิม ฟิชเชอร์เป็นตัวตั้งตัวตีในการเริ่มใช้เบลเซอร์หรือสูทสัญลักษณ์ประจำปี จิมกับพี่ชายมีร้านจำหน่ายอุปกรณ์กีฬาในเขตพื้นที่เซนต์หลุยส์ เขามีเพื่อนผู้ว่าการภาครับเลือกร่วมรุ่นกันในตอนนั้นสนใจอยากได้แจ็คเก็ตที่มีสีสันสดใสที่ทุกคนที่รู้จักกันจะใส่ให้เหมือน ๆ กันเพื่อจะได้หากันได้ง่ายเวลาที่อยู่ในที่ประชุมใหญ่โรตารีที่มีผู้คนมากมาย จิมจึงได้สั่งทำเบลเซอร์สีเหลืองจำนวนมากเพื่อแจกจ่ายให้เพื่อนร่วมรุ่นของเขา เสื้อแจ็คเก็ตสีเหลืองนี้มีชื่อเล่นว่า “เจลโลแจ็คเก็ต (ออกเสียงคล้ายเยลโลแจ็คเก็ต) ในการประชุมใหญ่โรตารีสากลที่แคนซัสซิตี้ มลรัฐมิสซูรี่ในปีพ.ศ. ๒๕๒๘ พวกผู้ว่าการภาคที่ใส่เสื้อสีเหลืองจึงเป็นกลุ่มที่โดดเด่นมากในงาน จนเป็นเหตุให้ในปี ๒๕๒๙-๓๐ ประธานโรตารีสากลแมท แคปาราส (M.A.T. Caparas) ขอให้ อผภ.จิมจัดหาเบลเซอร์สีแดงเลือดหมู (แบบสีของฮาร์วาร์ด) เพื่อจำหน่ายในกับผู้ว่าการภาครับเลือกที่จะเข้ารับการอบรมสัมนาในปี ๒๕๒๙ – ๓๐ ที่แนชวิลล์ สหรัฐอเมริกา เบลเซอร์ที่จิมจัดหามาให้นั้นเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในปีนั้น และในปีถัด ๆ มาประธานโรตารีสากลของแต่ละปีก็จะกำหนดสีประจำปีของตนเอง จิมยังเป็นผู้จัดหาเสื้อเบลเซอร์ในอีกหลาย ๆ ปีต่อมา ตำนานของการเกิดเสื้อเบลเซอร์ประจำปีก็เป็นดังว่านี้ ตอนนี้ขอพักเรื่องของประวัติศาสตร์ไว้ก่อน ผมขอแสดงความชื่นชมพระเอกของตำนานเสื้อเบลเซอร์ประจำปีสองท่านคือ ท่านอดีตผู้ว่าการภาคจิม ฟิชเชอร์จากเซนต์หลุยส์ และท่านอดีตประธานโรตารีสากลแมท แคปาราสจากประเทศฟิลิปปินส์ ผู้ก่อให้เกิดประเพณีการกำหนดสีเสื้อเบลเซอร์เช่นนี้ในโรตารี

สีเสื้อปีนี้ออกจะค้านกับภูมิอากาศในปัจจุบันสักหน่อย ทั้งนี้เป็นเพราะว่าวันที่ผมประกาศใช้สีเบอร์กันดีนั้นพวกเราอยู่กันที่ ๆ ประชุมผู้ว่าการภาคนอมินีที่เมืองเบอร์มิงแฮม อย่างที่ท่านทราบว่าเราสามารถลดต้นทุนการจัดซื้อลงได้มากถึงครึ่งหนึ่งของราคาเสื้อเบลเซอร์ปกติจากการที่เราวางแผนการจัดซื้อล่วงหน้าระยะยาว แม้ว่าการประหยัดนี้จะเป็นเงินจำนวนมากจากการวางแผนที่ดีนี้เราได้รับบทเรียนสำคัญประการหนึ่ง เพราะหากเราทบทวนและตรวจสอบหลักการทำงานที่มีอยู่ เราจะพบวิธีการใหม่ ๆ ที่ดีกว่า ตัวอย่างนี้น่าจะใช้เป็นบทเรียนให้พวกเราได้ตื่นตัวในการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนตามประเพณีที่อาจมีขั้นตอนที่ดีกว่าไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติงาน (ที่เคยคิดว่าดีที่สุดแล้ว) ในระดับสโมสรหรือในระดับภาคก็ตาม คติสอนใจของเรื่องนี้มีอยู่ว่าหากเมื่อใดก็ตามที่เราพบว่าเราจะต้องตรวจสอบประเพณีปฏิบัติที่มีและเป็นอยู่ และหากสามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนว่ามีวิธีปฏิบัติที่ดีกว่า เราจะต้องยอมเปิดรับวิธีปฏิบัติใหม่ ๆ บ้าง

ขอพูดถึงประเด็นที่สองที่อยู่ในความสนใจของบรรดาว่าที่ผู้ว่าการภาคทั้งหลายนั่นคือคติพจน์ประจำปี ผมได้ใช้เวลาในการเลือกสรรคติพจน์ที่เหมาะสม โดยผ่านขั้นตอนการศึกษาและการแบ่งแยกคติพจน์ของโรตารีสากลทั้งหมดที่เคยมีมา คติพจน์แรกเกิดขึ้นในปีโรตารี ๒๔๙๒ – ๙๓ ซึ่งก็เหมือนกับคติพจน์อื่น ๆ ในปีแรกที่มีโครงสร้างแบบยาว ๆ แต่แบบที่เรารู้จักกันเดี๋ยวนี้ที่มีลักษณะกระชับนั้นเพิ่งมีในช่วงทศวรรษ ๑๙๕๐ อย่างเช่น Rotary is Hope in Action (โรตารรีคือความหวังในการกระทำ – ผู้แปล) Develop Our Resources (พัฒนาทรัพยากรของเรา-ผู้แปล), Help Shape the Future (ร่วมสรรสร้างอนาคต – ผู้แปล)

บางคติพจน์ที่ทันสมัย บ้างก็ยาวไปเช่น “กระทำการด้วยคุณธรรม บริการดีงามด้วยความรักผลงานประจักษ์เพื่อสันติ” “ให้ความห่วงใยชุมชน โลกและมนุษย์ ของโรตารีเป็นที่ประจักษ์” “ACT — Aim for Action, Communicate for Understanding, Test for Leadership” (ปฏิบัติ - มุ่งปฏิบัติ สื่อสารชัดเจน สมเป็นผู้นำ – ผู้แปล) บ้างก็เป็นข้อความสั้น ๆ เช่น “จงมีส่วนร่วมมือกัน” “บริการให้ถึงตัว” หรือ “ร่วมสรร ปันน้ำใจ”

บางคติพจน์มีคำขึ้นต้นเป็นคำกริยาเพื่อเน้นให้เกิดการกระทำเช่น “สร้างมิตร” “เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน” “นำทาง สร้างผลงาน” นอกจากนี้ก็ยังมีประเภทที่เน้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น “ท่านคือกุญแจสำคัญ” “เพื่อเพื่อนมนุษย์ คือกิจพิสุทธิ์ของเรา” “เกื้อกูลแก่กัน สุขสันต์แท้จริง” ในจำนวนคติพจน์ทั้งหมด มีอยู่ ๑๖ คติพจน์ที่มีคำว่า “โรตารี” อยู่ด้วย เช่น “Live Rotary” (อยู่อย่างโรตารี - ผู้แปล) “โรตารีสร้างความหวัง” “สุขใจให้บริการ คือปณิธานโรตารี” “โรตารีร่วมสรรค์ ปันน้ำใจ” “เฉลิมฉลองโรตารี ๑๐๐ ปี” “โรตารีสร้างความหวัง” เป็นต้น มีอยู่สามปีที่ใช้คำว่า “บริการ” (หรือ “บำเพ็ญประโยชน์”) เอาไว้ด้วย เช่น “บริการเหนือตน” “บริการคือประทีปนำทาง” “โรแทเรียน – ร่วมกันบำเพ็ญประโยชน์ เพื่อก่อให้เกิดสันติสุข” และมีสามปีเช่นกันที่มีคำว่า “เชื่อม” อยู่ในคติพจน์ประจำปีด้วย ได้แก่ “เชื่อมช่องว่าง” “ให้ความสำคัญ น้อมนำด้วยใจ เชื่อมไว้ด้วยมิตรภาพ” (ผู้แปล)
“Mankind Is One — Build Bridges of Friendship throughout the World” (ในปี อผภ. โรจน์วิทย์ เปเรร่า ใช้คำแปลสั้น ๆ ว่า “เพื่อมนุษยชาติ”)

ผมได้ทบทวนคติพจน์ต่าง ๆ และพบว่ายังมีประเด็นสำคัญอื่น ๆ อีกที่เราไม่ได้แตะต้อง เรามักพูดถึง “โรแทเรียน” แต่ไม่ค่อยพูดถึงกลุ่มคนที่ไม่ใช่โรแทเรียน ดังนั้นเพื่อให้ความสำคัญของบุคคลทั้งสองกลุ่ม ทำให้ผมคิดถึงความห่วงใยของยอดนักขายในโรตารี นั่นคือ ท่านอดีตประธานโรตารีสากลแฟรงค์ เดฟลิน ที่เคยเสนอว่าเราควรจะพัฒนาคำอธิบายความหมายของโรตารีที่เราสามารถนำไปคุยกับใครก็ได้ที่เราพบในลิฟท์ จากเวลาที่ลิฟท์ปิดจนถึงลิฟท์เปิดออกในอีกชั้นหนึ่ง ผู้ที่เราคุยด้วยจะรับรู้เรื่องราวของโรตารีได้พอประมาณ ด้วยแนวความคิดนี้ผมตัดสินใจเลือกคติพจน์ที่สามารถรองรับวัตถุประสงค์ทั้งสองได้คือ ข้อแรกคือเป็นคำอธิบายโรตารีให้ผู้ที่ไม่ใช่โรแทเรียนได้รู้ และอีกข้อหนึ่งคือการกล่าวถึงคุณค่าของงานที่โรแทเรียนทำอยู่

ระหว่างที่ผมกำลังหาคำที่เหมาะสมอยู่ ผมใคร่ครวญถึงบริการสี่แนวทางของโรตารีและตั้งข้อสังเกตว่าบริการสโมสรกับบริการอาชีพนั้นทั้งสองแนวทางนี้ช่วยให้เราได้รับความสุขใจกับชีวิตและการเป็นพลเมืองดี ในขณะเดียวกันบริการชุมชนกับบริการอาชีพเมื่อนำมารวมกันแล้วก็ช่วยให้ชุมชนของเรามีความเป็นอยู่ดีขึ้น ส่วนบริการระหว่างประเทศนั้นช่วยให้เราได้มีส่วนสัมพันธ์กับสโมสรในต่างประเทศและต่างทวีป ทำให้โลกเราน่าอยู่ยิ่งขึ้นเพราะเราได้ใช้โอกาสที่เปิดให้จากบริการระหว่างประเทศนี้ในการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน การทำดีให้กันและกันตลอดจนสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น ดังนั้นผมจึงทุ่มเทความคิดเพื่อตอบคำถามว่าด้วยหนทางใดที่จะเป็นทางที่ดีที่สุดที่จะถ่ายทอดความเสียสละของเหล่าโรแทเรียนทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับโลก

ผมใคร่ครวญต่อไปถึงคำกล่าวของจิม คอลลินส์จากหนังสือขายดีของเขาที่ชื่อว่า “จากองค์กรที่ดีสู่องค์กรที่ยิ่งใหญ่” (สำหรับองค์กรไม่แสวงหากำไร) ซึ่งให้คำแนะนำว่าเราควรตอบคำถามสามข้อเมื่อต้องการนำองค์กรไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง คำถามคือ หนึ่ง. สมาชิกในองค์กรปรารถนาอะไร สอง.องค์กรของท่านกำลังทำอะไรอยู่ ที่จัดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในโลก และ สาม.อะไรที่เป็นแรงขับเคลื่อนทรัพยากรที่มีอยู่ให้ทำงาน

ในการจัดทำแผนวิสัยทัศน์ของมูลนิธิโรตารี เราได้ใช้วีธีถามคำถามทั้งสามนี้อยู่แล้ว และผมก็เอามาถามตัวเองอีกครั้งหนึ่งตอนที่กำลังคิดคำที่เหมาะสมที่จะอธิบายแรงปรารถนา ความคิดสร้างสรรค์ ความมีน้ำใจของบรรดาโรแทเรียนทั้งหลาย ถึงจุดนี้ผมขอหยุดให้พวกท่านได้ร่วมคิดถึงคำพูดสักสามหรือสี่คำที่จะให้คำจำกัดความโรตารีได้ดีที่สุด ลองคิดถึงคำพูดที่เมื่อเอ่ยขึ้นมาแล้วบุคคลภายนอก (โรตารี) จะเข้าใจความเป็นโรตารีในทันที และในขณะเดียวกันก็เป็นคำพูดที่สร้างความภาคภูมิใจให้พวกเราที่เป็นสมาชิกที่เรียกตัวเองว่าโรแทเรียนด้วย

ในขณะที่เรากำลังแสวงหาคำดี ๆ เหล่านั้น อย่าลืมว่าโรตารีนั้นคือ “จิตวิญญานแห่งการบำเพ็ญประโยชน์” และเป็นองค์กรแห่งสโมสรโรตารี เราจำเป็นต้องสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของการบำเพ็ญประโยชน์ มิตรภาพ ความหลากหลาย บูรณาการ และความเป็นผู้นำให้บุคคลและองค์กรภายนอกอื่นๆ ได้รับทราบ ฉะนั้นคำพูดที่บรรจุเอาแก่นของความเป็นโรตารีไว้ทั้งหมดน่าจะเป็นอะไร

หลังจากที่ท่านประธานโรตารีสากลจอห์น เคนนี่ได้ประกาศคติพจน์ของท่านแล้ว ณ ห้องประชุมนี้เมื่อปีที่แล้ว ผมก็คิดถึงคำพูดหลายคำที่จะนำไปประกอบเป็นคติพจน์ของปีถัดไปที่ผมจะเลือกมาใช้อธิบายภารกิจของโรตารีในปัจจุบันที่ประสบความสำเร็จมาแล้วอย่างดียิ่งนั่นคือ Building Communities – Bridging Continents (ได้รับการแปลเป็นไทยว่า “ชุมชนแข็งขัน สานสัมพันธ์โลก”)

ผมหวังว่าท่านเห็นด้วยกับคำสี่คำในคติพจน์นี้ที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เราทำอยู่ในฐานะโรแทเรียน เราเป็นองค์กรที่มีเอกลักษณ์และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักว่าเป็นองค์กรที่ดีที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง เราสร้างสรรค์ชุมชนของเราด้วยจิตวิญญานและทรัพยากรที่เราร่วมกันจัดหา ซึ่งผู้ว่าการภาคอลิสซาเบธ อูสโซวิคสามารถกล่าวสรุปได้อย่างจับใจว่า “เมื่อกลิ่นอายแห่งความคิดสร้างสรรค์ตลบอบอวลอยู่ในห้องประชุมสโมสร เราจะสามารถทำการโน้มน้าวชุมชนของเราได้ และเมื่อชุมชนได้รับแรงบันดาลใจที่เหมาะสมจากการบำเพ็ญประโยชน์และการนำเสนอภาพอันน่าประทับใจออกไปสู่บุคคลภายนอก เราก็ได้สมาชิกใหม่จากแรงบันดาลใจเช่นนี้ มันเป็นวัฏจักรอันทรงพลังยิ่ง”

ท่านผู้ว่าการภาคอลิสซาเบธกล่าวไว้ถูกต้อง ที่ว่าเราสามารถสร้างแรงบันดาลใจได้ทั้งกับสโมสรและชุมชนของเราเมื่อเราเข้าถึงจิตวิญญานที่แท้จริงของการบำเพ็ญประโยชน์ของโรตารี แม้พวกเราส่วนใหญ่จะเห็นด้วยว่าโรตารีทำได้ดีเป็นที่สุดในการสร้างสรรค์ชุมชน ก็อาจมีสมาชิกจากองค์กรอื่นไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปอย่างนั้นก็ได้ แต่เมื่อเราพูดว่าโรตารีเชื่อมโยงคนจากต่างถิ่นต่างดินแดนเข้าด้วยกัน ข้อสรุปเช่นนี้ไม่ค่อยมีใครกล้าแย้งนัก เพราะโรตารีทำหน้าที่เชื่อมโยงคนที่มีความตั้งใจทำความดีจากทั่วโลกเข้าด้วยกัน และเมื่อเข้ามารวมกันแล้วเราจึงได้รับประโยชน์จากการร่วมช่วยกันบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม ทำให้โลกเป็นที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น เอ็ด แค็ดแมนเป็นอีกท่านหนึ่งที่พูดได้ถูกต้องว่า “โรตารีคือเอกภาพในความหลากหลาย” ความเป็นเอกภาพในเป้าหมายที่มีอยู่ทำให้เป็นองค์กรที่ดีที่สุดในโลก พวกเราโชคดีที่เป็นโรแทเรียน ในเวลาที่เราเฉลิมฉลองความสำเร็จในระดับสโมสรก็ดี ระดับภาคก็ดี ความสำเร็จที่โดดเด่นทั้งหลายของโรตารีก็ดี พึงสังวรณ์ไว้สักหน่อยว่าพวกเราเป็นหนี้ความสำเร็จนั้น ๆ จากมรดกแห่งความดีที่บรรดาโรแทเรียนทั้งหลายได้ทุ่มเทสรรพกำลังนำเรามาสู่จุดที่เป็นอยู่นี้ในโลกได้ เรายืนต่อขึ้นไปบนบ่าของคนรุ่นก่อนเรา และในการประชุมครั้งนี้เราได้มีโอกาสพบปะกับอดีตเจ้าหน้าที่ในโรตารีตลอดจนอดีตประธานโรตารีสากลที่ได้นำโรตารีมาตลอดเวลา 50 ปีที่ผมได้เข้าร่วมประชุมในโรตารี

ถูกต้องแล้ว ผมมีประสบการณ์ในโรตารีมาห้าสิบปีแล้ว เพราะผมเริ่มจากการเป็นนักเรียนทุนของสโมสรโรตารีแห่งหนึ่งในยูเนี่ยนวิลล์ รัฐมิสซูรี่ ท้องถิ่นที่ผมเติบโตมา ทางสโมสรได้เชิญผมไปร่วมประชุมด้วยทุกครั้งโดยทางสโมสรออกค่าลงทะเบียนให้ซึ่งผมก็ไปร่วมประชุมด้วยอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่รู้ตัวว่าได้รับทุนจนถึงวันที่ผมเดินทางไปเรียนตามทุนที่ได้ในประเทศแอฟริกาใต้ เมืองเล็ก ๆ ที่เป็นบ้านเกิดของผมนั้น มีผมเป็นเด็กคนแรกที่ได้รับทุนไปเรียนในต่างประเทศ และสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่มีโรตารี

ลองพิจารณาดูถึงตัวเลขของนักเรียนทุนโรตารีที่มีมากถึง 50,000 คนที่ได้รับโอกาสนี้ นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ได้รับทุนกลุ่มศึกษาแลกเปลี่ยน (GSE) อีก 60,000 คนที่มีโอกาสเดินทางไปยังประเทศที่ห่างไกลจากบ้านเกิดตัวเอง นอกเหนือไปจากนั้นยังมีตัวเลขอีก 100,000 คนของเด็กนักเรียนแลกเปลี่ยนโรตารีที่ไปอยู่หรือเคยไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ในต่างประเทศห่างไกลจากครอบครัวที่ให้กำเนิดตัวเอง แล้วลองคิดถึงตัวเลขของผู้ป่วยโรคโปลิโอที่โรตารีทำหน้าที่เสมือนเครื่องกรองจำนวนผู้ป่วยจากปีละ 500,000 รายในปี พ.ศ. 2522 จนลดลงเหลือไม่ถึง 2,000 รายในปีที่ผ่านมา เท่ากับลดลงร้อยละ 99.9 เลยทีเดียว มิหนำซ้ำเรายังอยู่ระหว่างทางในการสร้างประวัติศาสตร์ของการขจัดโรคที่น่าสพรึ่งกลัวนี้ไปจากโลก แล้วเรายังมีโครงการต่าง ๆ ที่ทำกันในชุมชนที่นับมูลค่าได้กว่าพันล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่าเงินที่บริจาคให้กับมูลนิธิโรตารีนับเป็นสิบเท่า

ตัวเลขเหล่านี้จะยังทำให้มีใครสงสัยในความโชคดีที่ได้มาเป็นโรแทเรียนหรือเปล่า หรืออีกนัยหนึ่งท่านคิดว่ายังมีองค์กรใดในโลกที่ท่านสามารถจะใช้ทักษะและประสบการณ์เพื่อทำงานให้เกิดผลในการเปลี่ยนโลกให้เป็นที่น่าอยู่มากกว่าหรือเปล่า แต่ในขณะที่เราทบทวนตัวเลขต่าง ๆ ที่น่าภาคภูมิใจเหล่านี้ ขอให้ท่านตระหนักในหน้าที่ความรับผิดชอบที่มีเพิ่มขึ้น ท่านกำลังจะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปเป็นผู้ว่าการภาคแห่งยุคสมัยใหม่ ในอีกห้าเดือนข้างหน้าพวกเราทั้งหมดมีภารกิจไม่เพียงแต่จะต้องรักษาภาพพจน์และชื่อเสียงขององค์กรโรตารี แต่เรายังจะต้องยกระดับองค์กรนี้ให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก ความสำเร็จส่วนใหญ่ของเราขึ้นอยู่กับเวลา ทักษะและความอดทนของแต่ละท่านว่าจะยินดีรับไปเพื่อปฏิบัติต่อไม่ว่าจะในฐานะเพื่อน ที่ปรึกษา และผู้ให้กำลังใจแก่สโมสรต่าง ๆ ในภาคที่ท่านสังกัด โรตารีต้องการคำมั่นที่หนักแน่นจากผู้ว่าการภาครับเลือกทุกท่านในห้องประชุมแห่งนี้ เพราะในฐานะผู้อารักขากองเรือโรตารี เราทั้งหมดจะไปได้ช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับเรือลำที่มีสมรรถนะต่ำที่สุด ดังนั้นจงอย่าเป็นส่วนหนึ่งของเรือช้า เพราะนั่นหมายถึงการทำให้กองเรือโรตารีทั้งหมดช้าไปด้วย เพราะเรากำลังเคลื่อนเข้าสู่ศตวรรษใหม่ของการบำเพ็ญประโยชน์ของโรตารีสากล ซึ่งเกิดขึ้นมากว่า 100 ปีแล้ว และมีการประชุมใหญ่ครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2453.

หากทุกท่านในที่นี้ต้องการเป็นผู้นำอย่างที่เรามีศักยภาพที่จะเป็นได้ ยังมีใครสงสัยหรือไม่ว่าวันที่ดีที่สุดของโรตารีรออยู่เบื้องหน้าเรานี่เอง เราทำได้หากเรายินดีที่จะสละตัวเองด้วยเวลาและหยาดเหงื่อ สมาชิกจำนวน 1.2 ล้านคน แม้จะค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบจำนวนประชากรในโลกที่มีอยู่หกพันล้านคน โปรดระลึกถึงคำพูดของมาร์กาเรต มี้ด นักมานุษยวิทยาที่ว่า “อย่าสงสัยในกลุ่มคนที่มีจำวนน้อยที่เข้าอกเข้าใจกันและมีความมุ่งมั่นสูง ว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงโลกนี้ไม่ได้ ความจริงโลกที่เปลี่ยนแปลงก็เกิดจากคนกลุ่มเล็กนั่นแหละ”

ใช่แล้ว เราได้เคยเปลี่ยนแปลงโลกนี้มาแล้ว และเรายังคงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในทางที่ดีขึ้น คำถามคือเราจะทำอะไรต่าง ๆ ให้ดีขึ้นได้อย่างไรในสภาพวิกฤติการเงินเช่นนี้ เราทำได้แน่ และเราจะต้องร่วมกันทำ เคล็ดลับง่าย ๆ ที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในปีหน้าก็คือ การทุ่มเททรัพยากรของเราในการโน้มน้าวสโมสรต่าง ๆ ในภาคของเราทำในสิ่งที่โรแทเรียนเหล่านั้นปรารถนาที่จะทำ และทำในสิ่งที่โรแทเรียนเหล่านั้นทำได้เป็นอย่างดี อย่างที่เราเป็น“ชุมชนแข็งขัน - สานสัมพันธ์โลก”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น